ภาควิชาการท่องเที่ยว



images

ข่าวกิจกรรม

การประชุมวิชาการระดับชาติด้านการท่องเที่ยวกับมนุษยศาสตร์ครั้งที่ 1 ประจำปี 2562
images

ข่าวกิจกรรม

เข้าร่วมรายงานความก้าวหน้าของงานวิจัย
images

ข่าวกิจกรรม

ต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย

ประวัติความเป็นมา

           ภาควิชาการท่องเที่ยว ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2507 พร้อมกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่เดิมเป็นสาขาวิชาการท่องเที่ยว สังกัดภาควิชามนุษยสัมพันธ์ เปิดสอนเป็นวิชาโท ให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรีทุกคณะฯ และด้วยวิสัยทัศน์ของ ศ.ดร.มล.ตุ้ย ชุมสาย คณบดีคนแรก ได้มองเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยวว่าจะมีโอกาสขยายตัวและพัฒนามากขึ้นต่อไปในอนาคต ทำให้สาขาวิชาการท่องเที่ยว มีการปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการ ให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ

ปี 2542 ได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาโท คือ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ปี 2550 ได้เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรี คือ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการท่องเที่ยว

ปี 2558 สาขาวิชาการท่องเที่ยว ได้เปลี่ยนสถานะเป็น ภาควิชาการท่องเที่ยว  

ปี 2560 ได้เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรี (ภาคพิเศษ) เป็นครั้งแรก โดยใช้หลักสูตรเดียวกับหลักสูตรปริญญาตรีภาคปกติ แต่เปิดสอนในช่วงค่ำ นอกเวลาราชการ

ปัจจุบัน ภาควิชาการท่องเที่ยวเปิดสอนระดับปริญญาตรีภาคปกติ และภาคพิเศษ และกำลังจัดทำหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาในลักษณะสหวิทยาการ ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัยและคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แนะนำหน่วยงาน

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับต้นๆ และยังคงเป็นหนึ่งในหลายนโยบายที่รัฐบาลส่งเสริม และให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางด้านกายภาพและศักยภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาการท่องเที่ยวเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรม ให้เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ และประสบการณ์ในด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรมอย่างมืออาชีพ พัฒนาทักษะในการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น และสามารถปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ 

การเรียนการสอน

หลักสูตรในระดับปริญญาตรีของภาควิชาการท่องเที่ยว เป็นหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการท่องเที่ยว มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ทั้งด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยมีกระบวนวิชาที่หลากหลายและปรับปรุงให้ทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอยู่เสมอ โดยจะแบ่งออกเป็น

1. หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ได้แก่ วิชาที่มุ่งเน้นพัฒนาทักษะในการใช้ชีวิต เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สถิติ วิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิชาที่เน้นการวิเคราะห์ประเด็นทางสังคม 

2. หมวดวิชาเฉพาะ แบ่งออกเป็น 

                      2.1 วิชาแกน เป็นวิชาพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับสาขาวิชานี้  

                      2.2 วิชาเอกบังคับ เป็นวิชาบังคับที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

                      2.3 วิชาเอกเลือก ได้แก่ วิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเลือกได้ตามความสนใจ

 

3. หมวดวิชาเลือกเสรี เป็นหมวดวิชาที่ให้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนได้จากกระบวนวิชาอื่นๆ ที่นอกเหนือจากหมวดวิชาเฉพาะได้อย่างเสรีตามความสนใจ 

4. หมวดวิชาประสบการณ์วิชาชีพ ได้แก่ วิชาสหกิจศึกษา ที่ให้นักศึกษาฝึกประสบการณโดยเข้าทำงานในสถานประกอบการจริง

       หลักสูตรนี้มี  131 หน่วยกิต ซึ่งนักษาต้องลงทะเบียนให้ครบ 125 หน่วยกิตใน 7 ภาคเรียนแรก ซึ่งส่วนใหญ่นักศึกษาจะลงทะเบียนเรียนประมาณภาคเรียนละ 18-21 หน่วยกิต 6 หน่วยกิตสุดท้ายคือการฝึกสหกิจศึกษา ณ สถานประกอบการในภาคเรียนสุดท้าย ซึ่งเป็นการฝึกปฏิบัติด้วยการเรียนรู้ในสิ่งแวดล้อมการทำงานจริง

ปี 1

       นักศึกษาจะได้เริ่มเรียนวิชาต่างๆ ที่เป็นความรู้พื้นฐานของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมโรงแรม อาทิ ศาสนาและภูมิปัญญาไทยเพื่อการท่องเที่ยว  รวมถึงวิชาพื้นฐาน เช่น มนุษย์กับการแสวงหาความรู้ และ การอ่านกับโลกวรรณกรรมต่างก็เป็นวิชาพื้นฐานที่ทำให้นักศึกษามีทักษะพื้นฐาน ทั้งทางด้านการอ่าน การเขียน การคิดวิเคราะห์

ปี 2

       ประกอบด้วยวิชาที่มุ่งเน้นให้นจะช่วยให้เกิดความเข้าใจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการให้บริการมากยิ่งขึ้น เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ทรัพยากรท่องเที่ยวและมรดกไทย จิตวิทยาการบริการ และ ความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม นอกจากนั้นยังมีวิชาภาษาเพื่อการท่องเที่ยว และวิชาวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน

ปี 3

       ประกอบด้วยวิชาที่เจาะลึกเนื้อหาและประเด็นข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น เช่น วิชาการขนส่งผู้โดยสาร การจัดกิจกรรมทางการท่องเที่ยว MICE  และ พฤติกรรมนักท่องเที่ยว พร้อมกันนั้น ยังมีวิชาที่เกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณและคุณธรรมในการประกอบวิชาชีพอีกด้วย

ปี 4

        นักศึกษาจะได้เรียนวิชาที่มุ่งเน้นการวิเคราะห์ และสังเคราะห์องค์ความรู้ที่เรียนมามากยิ่งขึ้น เช่น การวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยว  ผลกระทบจากการท่องเที่ยวและการจัดการ และวิชา สัมมนาด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม รวมถึงได้ทดลองสำรองที่นั่งด้วยโปรแกรม Amadeus ในวิชาธุรกิจการบินอีกด้วย

       ในภาคเรียนที่ 2 ของปีสุดท้าย นักศึกษาจะได้ปฏิบัติสหกิจศึกษา หรือการเรียนรู้จากการทำงานในสถานที่จริงเป็นเวลา 4 เดือน

โอกาสในการทำงาน

ภาควิชาการท่องเที่ยว สอนให้นักศึกษามีความรู้และทักษะในการคิด วิเคราะห์ มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น และสามารถปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

           บัณฑิตที่จบไปสามารถทำงานได้หลากหลาย โดยเฉพาะงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาทิ งานในบริษัททัวร์ งานโรงแรม งานด้านอุตสาหกรรมการบิน งานในอุตสาหกรรมด้านการจัดประชุมและนิทรรศการ งานในภาครัฐ และงานอุตสาหกรรมการบริการอื่นๆ  

ติดต่อ

ภาควิชาการท่องเที่ยว คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

239 ถนนห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200

หมายเลขโทรศัพท์ : 053 943297-8

หมายเลขโทรสาร : 053 892330

Email: noppadon.c@cmu.ac.th

facebook: https://www.facebook.com/tourismcmu