สาขาวิชาภาษาพม่า

ประวัติความเป็นมาของสาขาวิชาภาษาพม่า

ประวัติความเป็นมาของสาขาวิชาภาษาพม่า

ในปีพ.ศ. 2537 นโยบายของรัฐบาลไทยในสมัยนั้น สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยเปิดการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมประเทศเพื่อนบ้าน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เล็งเห็นความสำคัญภาษาประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้วจึงรับนโยบายนำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างไทยและพม่าต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะดินแดนล้านนาไทย อาจารย์ ดร. วัฒนะ สุขสมัย คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ จึงได้สนับสนุนให้บุคลากร คือ อาจารย์อุบลรัตน์    พันธุมินทร์ (ปัจจุบันตำแหน่งรองศาสตราจารย์) อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย ไปศึกษาที่ Institute  of Foreign Languages (ต่อมาคือ University  of Foreign Languages)  ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ในปี พ.ศ. 2538  หลังจากนั้น จึงได้กลับมาก่อตั้งสาขาวิชาภาษาพม่า เปิดการเรียนการสอนเป็นวิชาโท และวิชาเลือกในปีพ.ศ. 2539 

ระยะแรกของการก่อตั้ง  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับความอนุเคราะห์จากกระทรวง ศึกษาธิการประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า (ชื่อประเทศอย่างเป็นทางการในขณะนั้น) ส่งอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น University of Yangon,  University of Education, University of Taungyi  ได้แก่ อาจารย์ U That Lwin  (พ.ศ. 2539-2541) , อาจารย์ U Tin Thun (พ.ศ. 2542-2544) ,  อาจารย์ Kyi  Kyi Myint (พ.ศ. 2545-2547)  มาช่วยสอนภาษาพม่าที่คณะมนุษยศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ภายหลังเมื่อทางกระทรวงฯ ไม่ได้สนับสนุนการส่งอาจารย์ สาขาจึงได้รับอาจารย์ Thein Thein Win (พ.ศ. 2551-2554) และอาจารย์ Yamin Shwesin Htaik (พ.ศ. 2555 - ถึงปัจจุบัน) มาช่วยสอน ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ให้ทุนสนับสนุนนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเด่น ไปศึกษาระดับปริญญาตรีที่ University  of Foreign Languages เพื่อกลับมาเป็นอาจารย์ของสาขาซึ่งก็คือ อาจารย์ ดร. อัมพิกา รัตนพิทักษ์

ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา สาขาวิชาได้มีส่วนร่วมในการผลิตบัณฑิตที่เลือกศึกษาภาษาพม่าเป็นวิชาโท และวิชาเลือกจำนวนมาก  บัณฑิตหลายคนสามารถนำความรู้ภาษาพม่าไปประกอบวิชาชีพในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าเป็นอาจารย์ในสถาบันทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ เจ้าหน้าที่หน่วยตรวจคนเข้าเมือง ผู้ช่วยวิจัย นักวิจัย  พนักงานสายโทรคมนาคม ทำงานทั้งในภาครัฐและเอกชน

ต่อมาเมื่อมีการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนขึ้น ภาษาพม่าได้กลายเป็นหนึ่งในภาษายุทธศาสตร์ที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีการเปิดสอน ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมให้บุคลากรไทยได้เข้าใจภาษาและวัฒนธรรมประเทศอาเซียน ในส่วนสาขาวิชาภาษาพม่าซึ่งเปิดสอนในฐานะวิชาโทมาหลายปีก็ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยและคณะเปิดเป็นหลักสูตรปริญญาตรี "ภาษาและวัฒนธรรมพม่า"   โดยได้เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกปี 2560 

หลักสูตรมีลักษณะเป็นหลักสูตรร่วม (joint program) กับมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง (University of Yangon) กล่าวคือ นักศึกษาวิชาเอกชั้นปีที่ 4 ต้องเดินทางไปศึกษาภาษาและวัฒนธรรมพม่าที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้งเป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา  ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างเสริมทักษะความรู้ความเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมพม่าให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ผลจากการลงนามข้อตกลงทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ปีพ.ศ. 2558 โดยคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ในขณะนั้น คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุมาลี สวัสดิรักษ์พงศ์ ทำให้เกิดความร่วมมือกันหลายด้าน นอกเหนือจากด้านหลักสูตรแล้ว ได้เกิดโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างสองสถาบัน การทำงานวิจัยร่วมระหว่างคณาจารย์ และล่าสุดทางภาควิชาภาษาเมียนมาร์ (Myanmar Department) หัวหน้าภาควิชาคือ Professor Dr. Aung Myint Oo ก็ได้ให้ความอนุเคราะห์ส่งอาจารย์ Soe Soe ผู้เชี่ยวชาญภาษาพม่าของมหาวิทยาลัยมาช่วยสอนที่คณะมนุษยศาสตร์ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 

ที่ผ่านมา สาขาวิชาได้รับความอนุเคราะห์อย่างดียิ่งจากสถานกงสุลใหญ่ ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ประจำนครเชียงใหม่  ในการประสานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ  นอกจากนี้ การก่อตั้งสาขาแต่แรกเริ่มได้รับความเมตตาจากศาสตราจารย์ดร. อุดม รุ่งเรืองศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านล้านนาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ทวี สว่างปัญญางกูร ผู้เชี่ยวชาญภาษาชาติพันธุ์ พาไปรู้จักท่านอูอาสะภะเจ้าอาวาสวัดทรายมูล(พม่า) และต่อมาท่านเจ้าอาวาสและพระอูวิริยะ พระชาวพม่าอีกรูปก็ได้ให้ความเมตตาช่วยเหลือเกื้อกูลถ่ายทอดวิชาความรู้เกี่ยวกับภาษาพม่า ให้กับอาจารย์และนักศึกษาของสาขาฯในลักษณะเป็นวิทยาทาน  เกิดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมเมียนมาร์นอกสถานที่ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาความรู้ความเข้าใจวัฒนธรรมและทักษะภาษาพม่าอย่างดียิ่ง

รองศาสตราจารย์โรม จิรานุกรม รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศฯ และหน่วยงานวิเทศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร. ประภา สุขเกษม คณบดี และหน่วยงานวิเทศฯคณะ ได้มีส่วนผลักดัน ช่วยเหลือจนทำให้เปิดหลักสูตรภาษาพม่าเป็นวิชาเอกได้

- ไม่มีเอกสารประกอบ -